เนื้องอกและมะเร็งของฐาน

        ข้อมูล ณ วันที่ 29 มิถุนายน 2022

 

การรักษาหลักในมะเร็งฐานกะโหลกศีรษะชนิด chordoma และ chondrosarcoma คือการผ่าตัดตามด้วยการฉายรังสี โดยต้องใช้รังสีปริมาณสูง อัตราการควบคุมโรคเฉพาะที่มีความสัมพันธ์กับการรอดชีวิตของผู้ป่วย ดังนั้นผู้ป่วยควรได้รับการรักษาในสถาบันที่มีความชำนาญ การฉายรังสีควรใช้การฉายรังสีแบบปรับความเข้มเป็นอย่างน้อย หรือการฉายอนุภาค เพื่อให้ปริมาณรังสีขนาดสูงไปยังตัวก้อนโดยจำกัดปริมาณรังสีไปสู่อวัยวะสำคัญรอบข้างได้

ในปัจจุบันการฉายรังสีด้วยอนุภาค เช่น อนุภาคโปรตอน และอนุภาคคาร์บอน ถือได้ว่าเป็นการรักษามาตรฐานในการฉายรังสีมะเร็งหรือเนื้องอกบริเวณฐานกะโหลกศีรษะ ด้วยคุณสมบัติทางฟิสิกส์ของอนุภาคโปรตอนและคาร์บอนจะถ่ายทอดรังสีปริมาณสูงไปยังจุดปลายพิสัยในเนื้อเยื่อหรือจุดที่โปรตอนหยุดเคลื่อนที่ เรียกว่า Bragg peak หลังจากนั้นปริมาณรังสีจะลดลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งแตกต่างจากรังสีเอกซเรย์พลังงานสูงหรือโฟตอน (photon) ที่ใช้ในการฉายรังสีแบบปรับความเข้ม ซึ่งการฉายอนุภาคมีข้อดีดังนี้

  1. เพิ่มปริมาณรังสีไปสู่ก้อนมะเร็ง (dose escalation to the tumor) ทำให้การศึกษาในโรคเนื้องอกฐานกะโหลกศีรษะที่ใช้อนุภาคสามารถให้ปริมาณรังสีขึ้นไปสูงได้เกิน 70 เกรย์ ตามตารางที่ 7 และ 8
  2. ลดปริมาณรังสีไปสู้อวัยวะข้างเคียง (less integral dose to OARs) จากคุณสมบัติทางฟิสิกส์ดังกล่าว ทำให้ด้านหน้าและด้านหลังของก้อนมะเร็งได้รับปริมาณรังสีน้อยมาก ทำให้มีโอกาสเกิดผลข้างเคียงจากรังสีน้อยลง และหากมีการกลับเป็นซ้ำจะทำให้แพทย์สามารถฉายรังสีซ้ำบริเวณเดิมได้ง่ายขึ้น หากปริมาณรังสีที่อวัยวะรอบข้างได้รับปริมาณรังสีต่ำจากการฉายรังสีครั้งแรก
  3. ผลการรักษาดีขึ้น (better oncologic outcomes) ซึ่งอัตราการควบคุมโรคเฉพาะที่สูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เมื่อเปรียบเทียบกับการศึกษาต่าง ๆ ก่อนหน้าที่ใช้รังสีโฟตอนเพียงอย่างเดียว โดยอัตราการควบคุมโรคเฉพาะที่ และอัตราการรอดชีวิตที่ 5 ปีคิดเป็นร้อยละ 80-90 ไม่ว่าใช้การฉายรังสีแบบผสมระหว่างโปรตอนและโฟตอน , หรือใช้โปรตอน/คาร์บอนเพียงอย่างเดียว

การศึกษาแบบย้อนหลังจำนวนมากแสดงให้เห็นว่า การรักษามะเร็งฐานกะโหลกศีรษะชนิด chordoma และ chondrosarcoma ด้วยอนุภาคโปรตอน/คาร์บอนให้ผลการรักษาที่ดีขึ้นเมื่อเทียบกับการศึกษาที่ใช้รังสีโฟตอน จึงทำให้เกิดการศึกษาแบบไปข้างหน้าระยะที่ 2 แบบไม่มีกลุ่มเปรียบเทียบในผู้ป่วยโดย MD Anderson Cancer Center ประเทศสหรัฐอเมริกาได้นำเสนอผลการศึกษาเบื้องต้นในรูปแบบ oral abstract ในงานประชุม American Society of Radiation Oncology ประจำปี 2562

โดยผู้ป่วย chordoma 18 คน (NCT00496119) และ chondrosarcoma 15 คน (NCT00496522) ได้รับอนุภาคโปรตอน หรือรังสีผสมระหว่างโปรตอนและโฟตอนรวม 74 เกรย์ (โปรตอน 50 เกรย์+โฟตอน 24 เกรย์) และผู้ป่วยส่วนใหญ่ได้โปรตอนแบบ passive scattering พบว่าอัตราการควบคุมโรคเฉพาะที่และอัตราการรอดชีวิตที่ 5 ปีที่ดี คิดเป็นร้อยละ 89 ใน chordoma และร้อยละ 100 ใน chondrosarcoma ทั้งนี้ผู้ป่วย chordoma 3 คนมีผลข้างเคียงระยะยาวจากรังสี grade 3-5 (grade 3 cranial nerve neuropathies ที่ 1 และ 6 ปี, 1 คนมี grade 4 brainstem necrosis ที่ 2 ปี)