เนื้องอกในไขสันหลัง

บริเวณกระดูกสันหลัง ประกอบด้วย กระดูกสันหลัง หรือ vertebrae และไขสันหลัง หรือ spinal cord

มะเร็งบริเวณกระดูกสันหลังแบ่งออกเป็น 

  1. เนื้องอกและมะเร็งของกระดูกสันหลังชนิดปฐมภูมิ (primary) และชนิดทุติยภูมิ (secondary) 
  2. เนื้องอกและมะเร็งของไขสันหลัง (primary spinal tumor) 

มะเร็งของกระดูกสันหลังชนิดทุติยภูมิ (secondary) หมายถึงการแพร่กระจายของโรคมะเร็งมาที่กระดูกสันหลัง (spinal metastasis) และพบได้บ่อยที่สุดในบรรดาภาวะการแพร่กระจายของมะเร็งมาที่กระดูก อาการและอาการแสดงที่พบบ่อย ได้แก่ อาการปวด ซึ่งมักแย่ลงเรื่อย ๆ และมักปวดตอนกลางคืน (nocturnal pain) โดยอาจเป็นเฉพาะที่ (localized) หรือปวดร้าวจากเส้นประสาทถูกกดทับ (radicular pain) ร่วมกับตรวจร่างกายพบมีอาการเจ็บเพิ่มขึ้นจากการเคาะตรวจ (percussion tenderness) โดยอาจพบภาวะความผิดปกติทางระบบประสาท เช่นอาการชาหรืออ่อนแรงของแขนขา (sensory/ motor symptom) และความผิดปกติของหูรูดทางเดินอาหารและกระเพาะปัสสาวะ (bowel and bladder dysfunction) จากภาวะไขสันหลังถูกกดทับ (metastatic spinal cord compression)  เป็นต้น การรักษาหลักได้แก่ การผ่าตัดและการฉายรังสี โดยพิจารณาตามลักษณะของรอยโรคที่กระดูกสันหลังและภาวะแทรกซ้อน ชนิดของมะเร็งต้นกำเนิด และสภาพร่างกายของผู้ป่วย สำหรับมะเร็งของกระดูกสันหลังชนิดปฐมภูมินั้นพบได้น้อยกว่าและพบเป็นชนิดเดียวกับเนื้องอกของกระดูก เช่น osteosarcoma, chondrosarcoma, hemangioma การรักษาหลักได้แก่ การผ่าตัด การฉายรังสี และการให้ยาเคมีบำบัด ขึ้นอยู่กับชนิดของมะเร็ง

ส่วนเนื้องอกของไขสันหลัง (primary spinal tumor) แบ่งตามลักษณะทางพยาธิวิทยาออกได้เป็นเนื้องอกชนิดไม่รุนแรง (benign tumor) และชนิดรุนแรง (malignant tumor) การตรวจวินิจฉัยที่สำคัญประกอบด้วย ภาพถ่ายทางรังสี การตรวจชิ้นเนื้อ และการตรวจน้ำไขสันหลัง การรักษาหลักได้แก่การผ่าตัด ส่วนการฉายรังสีพิจารณาให้เป็นการรักษาเสริมหลังผ่าตัดในรายที่ไม่สามารถผ่าตัดได้หมด หรือในรายที่มีความเสี่ยงสูงในการกลับเป็นซ้ำ และให้เป็นการรักษาหลักในรายที่ไม่สามารถผ่าตัดได้

การฉายอนุภาคโปรตอนเป็นการรักษาด้วยรังสีวิธีหนึ่ง แต่มีข้อดีคือสามารถกำหนดรังสีไปยังก้อนมะเร็ง โดยหลบเลี่ยงอวัยวะปกติรอบๆได้ ทำให้ผลข้างเคียงจากรังสีลดลงเมื่อเทียบกับการฉายรังสีเอกซ์ ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เช่น การทำลายของเส้นประสาท กล้ามเนื้ออ่อนแรง การควบคุมการทำงานของหูรูดต่างๆ นอกจากนี้ยังสามารถให้ร่วมกับการผ่าตัดและยาเคมีบำบัดได้เช่นเดียวกับการฉายรังสีเอกซ์ จึงช่วยเพิ่มอัตราการควบคุมโรค ลดการกลับเป็นซ้ำ และลดผลข้างเคียงจากรังสี ทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดี

ภาพเปรียบเทียบการกระจายรังสีของเทคนิค 3 มิติ (ก) เทคนิครังสีศัลยกรรม/ร่วมพิกัด (ข) และอนุภาคโปรตอน (ค) ตามลำดับ

อย่างไรก็ดี ข้อจำกัดของการฉายอนุภาคโปรตอนได้แก่ราคาที่สูง เนื่องจากเป็นเทคโนโลยีชั้นสูงและเครื่องมือมีราคาแพง อีกทั้งมีเครื่องเดียวในประเทศไทย จึงต้องมีการพิจารณาการใช้อย่างถี่ถ้วน การเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็งและเนื้องอกไขสันหลังและกระดูกสันหลังจำเป็นต้องพิจารณาองค์ประกอบหลายอย่างร่วมกัน โดยแพทย์จากสหสาขาวิชาชีพ ประกอบด้วย ศัลยแพทย์ อายุรแพทย์โรคมะเร็ง และแพทย์รังสีรักษาจะร่วมกันประเมินเพื่อหาวิธีการรักษาที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยแต่ละราย