มะเร็งหลอดอาหาร

การรักษาด้วยรังสีเป็นหนึ่งในการรักษาหลักของโรคมะเร็งหลอดอาหาร โดยสามารถให้ร่วมกับยาเคมีบำบัดเป็นการรักษานำก่อนการผ่าตัด เป็นการรักษาหลักในรายที่ไม่สามารถผ่าตัดได้ และเป็นการรักษาแบบประคับประคองเพื่อบรรเทาอาการที่เกิดจากตัวก้อน เช่น อาการอุดตัน ปวด หรือเลือดออก 

การรักษาด้วยรังสีเป็นการใช้รังสีพลังงานสูงเพื่อทำลายเซลล์มะเร็ง แต่ในขณะเดียวกันก็มีปริมาณรังสีกระจายไปยังเนื้อเยื่อปกติรอบๆด้วย ส่วนการฉายอนุภาคโปรตอน เป็นการรักษาด้วยรังสีวิธีหนึ่งที่ใช้อนุภาคโปรตอนพลังงานสูงเพื่อกำจัดเซลล์มะเร็ง และทำให้ก้อนมะเร็งยุบ โดยสามารถให้ร่วมกับยาเคมีบำบัดและการผ่าตัดได้ 

การฉายอนุภาคโปรตอนมีข้อดีเหนือกว่าการฉายรังสีด้วยรังสีเอกซ์ หรือโฟตอน คือ สามารถลดปริมาณรังสีที่กระจายรังสีไปยังเนื้อเยื่อปกติข้างเคียง ทำให้ผลข้างเคียงลดลง โดยเฉพาะในโรคมะเร็งหลอดอาหารซึ่งมีอวัยวะที่สำคัญโดยรอบ ได้แก่ ปอด หัวใจ ไขสันหลัง นอกจากนี้ยังช่วยให้สามารถเพิ่มปริมาณรังสีไปยังก้อนมะเร็งได้อย่างปลอดภัยด้วย โดยสรุป การฉายอนุภาคโปรตอนช่วยลดผลข้างเคียงจากการฉายรังสี เพิ่มคุณภาพชีวิตผู้ป่วย เพิ่มโอกาสการควบคุมโรค และลดโอกาสการเกิดมะเร็งชนิดที่สองด้วย 

การฉายรังสีเอกซ์ หรือโฟตอน

การฉายอนุภาคโปรตอน 

การฉายอนุภาคโปรตอนในโรคมะเร็งหลอดอาหารที่สาขารังสีรักษาและมะเร็งวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ใช้เทคนิคชั้นสูง เรียกว่า การฉายอนุภาคโปรตอนแบบปรับความเข้ม (intensity modulated proton therapy, IMPT) ซึ่งสามารถกำหนดปริมาณรังสีไปยังก้อนมะเร็งได้อย่างแม่นยำ ดังแสดงในการศึกษาของสาขารังสีรักษาและมะเร็งวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ (Oonsiri S, Kitpanit S, Kannarunimit D, Chakkabat C, Lertbutsayanukul C, Prayongrat A. Comparison of intensity modulated proton therapy beam configurations for treating thoracic esophageal cancer. Phys Imaging Radiat Oncol. 2022 Apr 28;22:51-56.) 

อย่างไรก็ดี การเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็งหลอดอาหารจำเป็นต้องพิจารณาองค์ประกอบหลายอย่างร่วมกัน เช่น ระยะของโรค ตำแหน่งของโรค สภาวะทางร่างกายของผู้ป่วย และความสมัครใจในการรักษา โดยแพทย์จากสหสาขาวิชาชีพ ประกอบด้วย ศัลยแพทย์ อายุรแพทย์โรคมะเร็ง และแพทย์รังสีรักษาจะร่วมกันประเมินเพื่อหาวิธีการรักษาที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยแต่ละราย 

ขณะนี้ สาขารังสีรักษาและมะเร็งวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ได้ริเริ่มงานวิจัยทางคลินิกเปรียบเทียบระหว่างการฉายรังสีเอกซ์แบบปรับความเข้ม กับการฉายอนุภาคโปรตอนแบบปรับความเข้มในโรคมะเร็งหลอดอาหาร โดยเป็นงานวิจัยแบบสุ่ม มีกลุ่มควบคุม และทำในสถาบันต่างๆทั่วประเทศไทย ได้แก่ โรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลรามาธิบดี โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ โรงพยาบาลวชิระ สถาบันมะเร็ง โรงพยาบาลมะเร็งลพบุรี โรงพยาบาลมะเร็งชลบุรี และโรงพยาบาลมะเร็งจันทบุรี (Lertbutsayanukul C, Kitpanit S, Kannarunimit D, Chakkabat C, Oonsiri S, Thephamongkhol K, Puataweepong P, Katanyoo K, Sukhaboon J, Tovanabut C, Chongsathientham S, Treeratsapanich P, Soonthornrak J, Prayongrat A. High-dose Intensity-modulated proton therapy versus Standard-dose Intensity-modulated RadIation therapy for esophageal squamous cell carcinoma (HI-SIRI): study protocol for a randomized controlled clinical trial. Trials. 2022 Oct 22;23(1):897) หากท่านสนใจเข้าร่วมงานวิจัย สามารถติดต่อสอบถามแพทย์ หรือติดต่อมายังศูนย์โปรตอนสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ได้