มะเร็งเต้านม

มะเร็งเต้านม

ชื่อโครงการ การวิจัยแบบสุ่มที่มีตัวแปรควบคุมเปรียบเทียบผิวหนังอักเสบเฉียบพลันของการฉายรังสีในมะเร็งเต้านมระยะไม่แพร่กระจายแบบลดจำนวนครั้งของการฉายรังสีให้สั้นลงระหว่างเครื่องฉายรังสีโปรตอนและโฟตอน

สถานะโครงการ: กำลังเปิดรับผู้ป่วยเข้าร่วมวิจัย

เผยแพร่ครั้งแรก: 30 มกราคม 2566

อัพเดตล่าสุด: 30 มกราคม 2566

วัตถุประสงค์
       เนื่องด้วยปัจจุบันการรักษาหลักของมะเร็งเต้านมประกอบด้วยการผ่าตัด การรักษาด้วยยาเคมีบำบัด การรักษาแบบมุ่งเป้า และการฉายรังสี โดยการฉายรังสีหลังจากการผ่าตัดจะช่วยลดการกลับมาเป็นซ้ำของโรคและอัตราการเสียชีวิตได้ ในช่วง 10ปีที่ผ่านมา การฉายรังสีแบบลดจำนวนครั้งของการฉายรังสีลงจากเดิมฉายรังสี 50-60 เกรย์ใน 25-30 ครั้ง เหลือปริมาณ 40.5 เกรย์ ใน 15 วัน ในมะเร็งเต้านมระยะต้นได้ถือเป็นมาตรฐานในการรักษามะเร็งเต้านมในหลายๆประเทศร่วมถึงใน รพ.จุฬาลงกรณ์ด้วย เนื่องจากมีงานวิจัยในหลายๆประเทศแสดงผลในด้านการควบคุมตัวโรคที่ไม่แตกต่างกับการฉายรังสีแบบเต็มจำนวนครั้ง อีกทั้งยังสะดวกแก่ผู้ป่วยทั้งในแง่ลดจำนวนครั้งของการมารพ. เพิ่มโอกาสในการเข้าถึงการรักษาโดยการฉายรังสีของผู้ป่วยใหม่มากขึ้น เป็นต้น และในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาได้มีการปรับลดจำนวนครั้งของการฉายรังสีในผู้ป่วยมะเร็งเต้านมระยะต้นลงอีกเป็น 26 เกรย์ ใน 5 วันเพื่อหาปริมาณรังสีที่เหมาะสมและได้ประโยชน์แก่ผู้ป่วยมากที่สุด โดยผลของงานวิจัยเหล่านั้นแสดงให้เห็นว่าการควบคุมตัวโรคของปริมาณรังสี 26 เกรย์ใน 5 วันนั้นไม่ด้อยกว่าวิธีมาตรฐาน (40.5 เกรย์ใน 15 วัน) และมีผลข้างเคียงไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญโดยผลข้างเคียงในแง่ผิวหนังอักเสบเฉียบพลันอยู่ในเกณฑ์น้อยและสามารถรักษาให้หายได้

อีกทั้งทาง รพ.จุฬาลงกรณ์ได้มีการเปิดให้บริการการฉายรังสีโดยใช้เครื่องฉายรังสีชนิดโปรตอนเป็นที่แรกในประเทศไทย ซึ่งเครื่องโปรตอนนี้มีคุณสมบัติที่เด่นกว่าเครื่องโฟตอนที่ใช้อยู่ในปัจจุบันในแง่ของการลดผลข้างเคียงของอวัยวะรอบๆมะเร็ง/ก้อนเนื้อที่ต้องการรักษา โดยเฉพาะในการรักษามะเร็งเต้านม ซึ่งมีหัวใจและปอดซึ่งเป็นอวัยวะสำคัญที่อยู่ข้างเคียง โดยงานวิจัยนี้เป็นการศึกษาเปรียบเทียบระหว่างการฉายรังสีโฟตอน 5 ครั้ง กับ การฉายโปรตอน 5 ครั้ง โดยมีวัตถุประสงค์ดังนี้

  1.  เพื่อศึกษาความแตกต่างของผิวหนังอักเสบเฉียบพลันจากการฉายรังสีแบบลดจำนวนครั้งแต่เพิ่มปริมาณรังสีในแต่ละครั้งในมะเร็งเต้านมระยะไม่แพร่กระจายระหว่างการใช้เครื่องฉายแสงโปรตอนและโฟตอนในระยะเวลา 3 เดือน
  2. วัตถุประสงค์รองเพื่อศึกษาผลในด้านความสวยงามของเต้านมจากการฉายรังสีแบบลดจำนวนครั้งในมะเร็งเต้านมระยะไม่แพร่กระจายระหว่างการใช้เครื่องฉายแสงโปรตอนและโฟตอน ในระยะเวลา 3 เดือน
  3. เพื่อประเมินผลข้างเคียงในระยะยาวจากการปรับการฉายรังสีแบบลดจำนวนครั้งในมะเร็งเต้านมระยะไม่แพร่กระจายระหว่างการใช้เครื่องฉายแสงโปรตอนและโฟตอน ในระยะเวลา 1 ปี และ
  4. เพื่อติดตามการควบคุมโรคหลังการรักษาจากการฉายรังสีแบบลดจำนวนครั้งในมะเร็งเต้านมระยะไม่แพร่กระจายระหว่างการใช้เครื่องฉายแสงโปรตอนและโฟตอน ในระยะเวลา 2 ปี

 

เกณฑ์คัดเข้า

ผู้ป่วยที่สามารถเข้าร่วมการศึกษานี้ได้ต้องมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้

  • ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมระยะไม่แพร่กระจาย (ระยะที่ 1-3) ที่ได้รับการรักษาทั้งการผ่าตัดทั้งเต้า และการผ่าตัดแบบสงวนเต้านมที่ได้รับการผ่าตัดแล้ว  และไม่เคยได้รับการฉายรังสีบริเวณเต้านมมาก่อน อายุมากกว่า 20 ปี ช่วยเหลือตัวเองได้ดี
    ขนาดตัวอย่าง (Sample size) ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมระยะไม่แพร่กระจาย จำนวน 140 คน

  

Phase II

 ชนิดของมะเร็ง : โรคมะเร็งเต้านม

 ระยะของโรค : ระยะที่ 1-3


ผู้วิจัยหลัก : ศ.นพ.ชวลิต เลิศบุษยานุกูล

ผู้วิจัยร่วม

  • พญ. แพทย์หญิงธนภรณ์ สารสิทธิธรรม
  • ผศ.พญ.ชนม์นิภา นันทวิทยา
  • ผศ.พญ.กิตต์วดี ศักดิ์ศรชัย

 สถานที่ดำเนินงานวิจัย : รพ จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย