ข้อมูล ณ วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2023
หลักการโดยทั่วไป
การฉายรังสีเป็นหนึ่งในวิธีที่ใช้รักษามะเร็งบริเวณศีรษะและลำคอหรือมะเร็งหูคอจมูก โดยอาจใช้ร่วมกับการรักษาอื่นๆ เช่นกันผ่าตัด หรือการให้ยาเคมีบำบัด หรืออาจใช้เป็นการรักษาเพียงอย่างเดียวก็ได้
หากก้อนมะเร็งบริเวณศีรษะและลำคอ สามารถทำการผ่าตัดได้ เราอาจฉายรังสีตามหลังการผ่าตัดเพื่อกำจัดเซลล์มะเร็งที่อาจยังหลงเหลืออยู่ภายในร่างกาย และเพื่อป้องมะเร็งจากการกลับเป็นซ้ำของโรค แต่หากก้อนมะเร็งไม่สามารถผ่าตัดได้ หรืออยู่ในตำแหน่งที่ยากต่อการผ่าตัด ผู้ป่วย มักได้รับการฉายรังสี หรือฉายรังสีร่วมกับเคมีบำบัด
การให้ยาเคมีบำบัดระหว่างการฉายรังสีจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของรังสี และช่วยโอกาสในการควบคุมโรค
โปรตอน ในมะเร็งศีรษะและลำคอ
การฉายอนุภาคโปรตอน เป็นการฉายรังสีชนิดหนึ่งที่ใช้ในการรักษามะเร็ง อนุภาคโปรตอน มีประโยชน์ที่เหนือกว่าการฉายรังสีโดยทั่วไป คือสามารถปล่อยพลังงานไปสู่ก่อนมะเร็ง โดยที่หลบเลี่ยงรังสีไปสู่อวัยวะข้างเคียงของก้อนมะเร็งได้ดีกว่ารังสีปกติ ด้วยคุณสมบัตินี้ของโปรตอน จึงเหมาะกับการฉายรังสีในบริเวณศีรษะและลำคอ เนื่องจากก้อนมะเร็งบริเวณนี้มักอยู่ติดกับอวัยวะสำคัญต่างๆมากมาย เช่นไขสันหลัง ก้านสมอง เส้นประสาทตา เป็นต้น
Photo reference: Frank SJ. Int J Radiat Oncol Biol Phys. 2016 May 1;95(1):37-39.
การลดปริมาณรังสีไปสู่อวัยวะข้างเคียง นำไปสู่ผลข้างเคียงที่น้อยลงจากการฉายรังสี ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เช่น ปากแห้งน้ำลายแห้ง การสูญเสียการทำงานของเส้นประสาทสมอง การสูญเสียการได้ยิน เป็นต้น ทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นทั้งในระหว่างและหลังการรักษา นอกจากนี้ ยังลดความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งชนิดที่สองในอนาคตอีกด้วย
ข้อมูลจากการศึกษาจำนวนหนึ่ง บ่งชี้ว่าการฉายอนุภาคโปรตอนอาจช่วยเพิ่มการควบคุมโรค ได้เมื่อเทียบกับการฉายรังสีแบบปกติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ป่วยที่ต้องได้รับการฉายรังสีซ้ำ และ/หรือผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งบริเวณจมูกและโพรงไซนัส อย่างไรก็ตามผลของการรักษาขึ้นอยู่กับ ปัจจัยหลายอย่าง เช่น ระยะของโรค ชนิดของเซลล์มะเร็ง สภาพร่างกายของผู้ป่วย เป็นต้น
การฉายโปรตอนแบบปรับความเข้ม
ที่ศูนย์โปรตอนสมเด็จพระเทพรัตนราช ราชสุดา เราใช้วิธีการฉายอนุภาคโปรตอนแบบปรับความเข้ม หรือ intensity modulated proton therapy (IMPT) โดยใช้ pencil beam scanning (PBS) ในการฉายรังสีผู้ป่วยมะเร็งศีรษะและลำคอ การฉายรังสีวิธีนี้สามารถให้ลำรังสี ได้อย่างแม่นยำและตรงจุด ข้อแตกต่างสำคัญระหว่าง IMPT และการฉายรังสีโปรตอนแบบอื่นๆ คือความสามารถในการปรับความเข้มในแต่ละจุดในขณะที่กำลังฉายรังสีได้
โดยสรุปแล้ว การฉายอนุภาคโปรตอนมีประโยชน์ในการลดผลข้างเคียงในมะเร็งศีรษะและลำคอ ผู้ป่วยหรือครอบครัวสามารถติดต่อศูนย์โปรตอนสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เพื่อปรึกษาการฉายอนุภาคโปรตอนได้ ที่นี่